
พบแล้ว เทอโรซอร์ ตัวแรกของไทย จากยุคไดโนเสาร์ อายุ 130 ล้านปี
เรียกได้ว่า หากไดโนเสาร์ คือ เจ้าแห่งพื้นดิน อิกทิโอซอรัส คือ เจ้าแห่งทะเล เทอโรซอร์ ก็คือเจ้าแห่งท้องฟ้า และ ล่าสุด ประเทศไทยได้ค้นพบ เทอโรซอร์ ตัวแรกอย่างเป็นทางการ นับเป็นก้าวสำคัญของวงการบรรพชีวินวิทยาไทย และ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ภาพ จาก กรมทรัพยากรธรณี
โดย ซากฟอสซิล ของ การูแดปเทอรัส บุฟโตติ (Garudapterus buffetauti) ถูกค้นพบ ที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์อ่างเก็บน้ำพระปรง จ.สระแก้ว โดยเป็นเทอโรซอร์ ชนิดใหม่ของโลก และชนิดแรกของไทย มีอายุราว 130 ล้านปี โครงสร้างสำคัญ คือ ขากรรไกรบน ที่สมบูรณ์ และ ฟันอีก 5 ซี่ ฟอสซิลนี้ มีลักษณะเด่น คือ ปลายปากกว้าง คล้ายนกปากช้อน เหมาะกับการจับปลา และมีช่วงปีกยาวประมาณ 2.5 เมตร
ซึ่ง งานวิจัย ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cretaceous Research ระบุว่า เทอโรซอร์ ชนิดนี้ จัดอยู่ในวงศ์ Gnathosaurinae ซึ่งปกติพบในยุโรป การค้นพบครั้งนี้ จึงขยายขอบเขตทางชีวภูมิศาสตร์ของกลุ่มนี้ มาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเติมเต็มภาพวิวัฒนาการของสัตว์เลื้อยคลานบินได้ ที่เคยมีอยู่ในภูมิภาคนี้
ภาพ จาก กรมทรัพยากรธรณี
จุดเด่น ของ เทอโรซอร์ คือ โครงสร้างกระดูกที่เบา มีถุงลมคล้ายกับนก ช่วยให้บินได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เพราะความเปราะบางนี้เอง ทำให้การพบซากที่สมบูรณ์เป็นเรื่องยาก ในไทยเคยพบเพียงกระดูกเล็กน้อยและฟันแยกชิ้น การพบขากรรไกรบนที่สมบูรณ์ในครั้งนี้ จึงมีความสำคัญอย่างมาก ต่อการศึกษาวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในยุค ครีเทเชียส ตอนต้น
ภาพ จาก กรมทรัพยากรธรณี
การค้นพบนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของกรมทรัพยากรธรณี และ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดย มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ เมื่อ วันที่ 18 มิ.ย. 2568 ถือเป็นหลักฐานยืนยันว่า ภาคตะวันออกของไทย มีศักยภาพในการศึกษาฟอสซิลไม่แพ้ภูมิภาคอื่น และอาจนำไปสู่การค้นพบสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์อื่นๆ ในอนาคตอีกมากมาย
ภาพ จาก กรมทรัพยากรธรณี
ขอบคุณข้อมูล จาก เพจ กรมทรัพยากรธรณี
เรียบเรียงโดย news.in.th