
หนักแล้ว!! เปิดยอดคนติดโควิด ล่าสุด
โควิดวันนี้ (27 พ.ค. 68) ศูนย์ COVID-19 ของรัฐบาล เผยตัวเลขผู้ป่วยใหม่พุ่งพรวด 6.5 หมื่นราย ดันยอดป่วยสะสมทะลุกว่า 2 แสนคน เสียชีวิตสะสมแล้ว 51 ราย ระบุ กทม.ป่วยมากสุด ขณะที่กลุ่มวัยทำงานและกลุ่มวัยรุ่นป่วยเยอะสุด กรมวิทย์เผยเป็นสายพันธุ์ XEC แนะสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ
ศูนย์ COVID-19 ของรัฐบาล รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยล่าสุด ข้อมูลอัพเดตระหว่างวันที่ 18-24 พฤษภาคม 2568 อ้างอิงข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ เพิ่มขึ้น 65,007 ราย มีเสียชีวิตรายใหม่ 8 ราย
และเมื่อรวมตัวเลขตั้งแต่ต้นปี 1 มกราคม-24 พฤษภาคม 2568 มีผู้ป่วยสะสม 204,965 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 51 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาล (ผู้ป่วยใน) 3,544 ราย และผู้ป่วยนอก 61,463 ราย
สำหรับ 5 จังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 12,184 ราย รองลงมาเป็นชลบุรี 4,018 ราย นนทบุรี 2,891 ราย สมุทรปราการ 2,837 ราย และระยอง 2,355 ราย
และเมื่อแยกเป็นกลุ่มอายุพบว่า กลุ่มอายุ 30-39 ปี หรือกลุ่มวัยทำงาน มีจำนวน 12,860 ราย เป็นกลุ่มที่ป่วยมากสุด รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 20-29 ปี หรือกลุ่มวัยรุ่น มีจำนวน 11,298 ราย ส่วนกลุ่ม 60 ปีขึ้นไป หรือกลุ่ม 608 อยู่อันดับ 3 มีจำนวน 9,887 ราย แต่ถ้ารวมกลุ่มอายุ 20-29 ปี พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยสูงถึง 24,158 ราย
ศูนย์โควิด-19 ระบุว่า ปัจจุบัน COVID-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี และพบผู้ป่วยตามฤดูกาล หากจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีคนหมู่มากหรือแออัด สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อย ๆ หากมีอาการป่วยให้รีบไปพบแพทย์
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2568 นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ว่า สถานการณ์สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทยตั้งแต่เดือนมกราคม 2567-วันที่ 6 พฤษภาคม 2568 พบ JN.1 ยังเป็นสายพันธุ์หลัก คิดเป็นสัดส่วนสะสมร้อยละ 63.92 ของสายพันธุ์ทั้งหมดที่พบในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ภาพรวมทั่วโลกที่ยังคงมี JN.1 เป็นสายพันธุ์หลัก
สำหรับสายพันธุ์ XEC พบแนวโน้มลดลง คิดเป็นสัดส่วนสะสมร้อยละ 3.07 ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลก ส่วน LP.8.1 (สายพันธุ์ย่อย KP.1.1.3) เริ่มพบในประเทศไทยช่วงเดือนมกราคม 2568 ขณะนี้มีอัตราลดลงเช่นกัน โดยสัดส่วนสะสมที่พบยังน้อยกว่าร้อยละ 10 ทั้งนี้วัคซีนโควิด-19 ยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันความรุนแรงจากสายพันธุ์นี้
นายแพทย์ยงยศกล่าวอีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังคงร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อก่อโรคโควิด-19 เพื่อเตรียมความพร้อมหากมีการระบาดในอนาคต โดยเผยแพร่จีโนมบนฐานข้อมูลสากล GISAID ตั้งแต่เริ่มสถานการณ์ระบาดโรคโควิด-19 ในประเทศไทยเมื่อเดือนมกราคม 2563 ถึง 6 พฤษภาคม 2568 มีจำนวนสะสม 47,571 ราย
อย่างไรก็ตามการปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการติดเชื้ออย่างสม่ำเสมอ เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การปิดปาก ปิดจมูกเมื่อไอหรือจาม การล้างมือเป็นประจำ สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อได้
สถานการณ์ COVID-19 ในประเทศไทย
ข้อมูลรอบสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 18-24 พฤษภาคม 2568
ผู้ป่วยรายใหม่ 65,007 ราย
ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 8 ราย
ข้อมูลวันที่ 1 มกราคม-24 พฤษภาคม 2568
ผู้ป่วยสะสม 204,965 ราย
ผู้เสียชีวิตสะสม 51 ราย