ทำความรู้จัก มาลาลา ยูซาฟไซ เป็นใครกันผู้หญิงที่ แอนโทเนีย โพซิ้ว ตอบและอยากเป็น
ขอแสดงความยินดีกับแอนโทเนีย ที่คว้ารองอับดับหนึ่งให้ประเทศไทยเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ ที่ประกวดในกรุงซานซัลวาดอร์ ประเทศเอลซัลวาดอร์ เป็นที่ปลื้มใจให้กับคนไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งในรอบตอบคำถาม3คนสุดท้าย ทุกคนได้รับคำถามเดียวกันว่า ถ้าสามารถใช้ชีวิตเป็นผู้หญิงอีกคนได้เป็นเวลาหนึ่งปี เธอเลือกจะเป็นใครและทำไม คำตอบของ แอนโทเนีย เลือกที่จะเป็น มาลาลา ยูซาฟไซ
มาลาลา ในคำตอบของ แอนโทเนีย คือ นักเคลื่อนไหวด้านการศึกษาชาวปากีสถาน ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2014 ขณะมีอายุเพียง 17 ปี เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบล ที่อายุน้อยที่สุดในโลก
มาลาลา เป็นผู้สนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อการศึกษาของผู้หญิงและเด็กในบ้านเกิดของเธอ ท่ามกลางกลุ่มตอลิบาน ในปากีสถานเคยสั่งห้ามเด็กผู้หญิงเข้าโรงเรียน การสนับสนุนของเธอได้เติบโตขึ้นเป็นขบวนการระดับนานาชาติ
ขณะเดียวกันเธอเป็นเหยื่อของกลุ่มตอลิบาน เมื่อปี 2012 ขณะที่เธอนั่งรถบัสกลับจากการสอบ พร้อมกับนักเรียนหญิงอีก 2 คน เธอถูกกลุ่มตาลิบานยิงที่ศีรษะจนอาการสาหัส เพราะไม่พอใจต่อกิจกรรมที่เธอทำ ก่อนจะถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่ประเทศอังกฤษ เรื่องราวของเธอได้จุดประกายให้ผู้คนจากนานาชาติต่างหลั่งไหลสนับสนุน
หลังจากฟื้นตัว มาลาลา ก็กลายเป็นนักเคลื่อนไหวที่โดดเด่น ในการต่อสู้เพื่อสิทธิในการศึกษา เธอร่วมก่อตั้ง Malala Fund ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรในเบอร์มิงแฮม
สำหรับ มาลาลา เกิดเมื่อวันที่ 12 ก.ค.1997 ใน เขตสวาท ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน ในแคว้นแคบาร์ปัคตูนควาเธอเกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง และเป็นลูกสาวของนายไซอุดดิน ยูซาฟไซ และ Tor Pekai Yousafzai ครอบครัวของเธอมีเชื้อสายปาทาน และนับถือศาสนาอิสลาม นิกายซุนนี
ครอบครัวของเธอไม่มีเงินเพียงพอสำหรับการคลอดที่โรงพยาบาลและทำให้ยูซาฟไซเกิดที่บ้านด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน ชื่อแรกของเธอมะลาละห์ (หมายถึง "ความเศร้าโศกเสียใจ") ถูกตั้งตาม มาลาไล แห่งไมวันด์ (Malalai of Maiwand) ซึ่งเป็นกวีชาวปาทานผู้มีชื่อเสียงจากและเป็นนักรบหญิงจากทางใต้ของอัฟกานิสถาน
ส่วนนามสกุลของเธอคือ ยูซาฟไซ ซึ่งเป็นกลุ่มชนเผ่าปาทาน (Pashtun) ขนาดใหญ่ในหุบเขาสวาทของปากีสถาน มาลาละห์อาศัยอยู่ที่บ้านของเธอในเมืองมินโกร่ากับน้องชายสองคนของเธอ (Khushal และ Atal) พ่อแม่ของเธอ และไก่สองตัว