เฉลยแล้ว ยายกุยในละครพรหมลิขิต กับ วัดนางกุย อยุธยา เกี่ยวข้องกันหรือไม่
เรียกได้ว่า ละครเรื่องพรหมลิขิตที่กำลังมาแรงและมีหลายบทตัวละครที่คนสนใจกันจำนวนมาก ซึ่งในอีพีล่าสุดอย่าง 3-4 มีบทตัวละคร นางกุย ที่หลายๆคนสงสัยมากว่า เกี่ยวอะไรกันกับ วัดนางกุย ที่อยู่ในตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดที่ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองด้านใต้ ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกนั่นเอง ซึ่งเราจะพาไปดูกันว่าเกี่ยวข้องกันหรือไม่
วัดนางกุย ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2130 สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 1 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2190 ผู้ที่สร้างวัดนางกุย คือ นางกุย เป็นผู้มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย เป็นวัดที่เคยมีความเจริญรุ่งเรืองมากในอดีต ต่อมาหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 วัดนางกุยได้ถูกปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรม
จนมาถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ได้มาทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดต่าง ๆ ในพระนครศรีอยุธยา วัดนางกุยเป็นวัดหนึ่งที่ได้รับการบูรณะในส่วนต่าง ๆ เช่น อุโบสถ ที่หน้าบันมีรูปนารายณ์ทรงครุฑและใบเสมาคู่รอบอุโบสถ รวมทั้งเจดีย์และพระปรางค์ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2484 ปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ พระพุทธรูปศิลา สมัยทวารวดี ปางสมาธิ เรียกกันว่า องค์หลวงพ่อศิลาแลงนาคปรก และ หลวงพ่อยิ้ม เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่แกะจากไม้สักทองและลงรักปิดทอง ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถ
จากคำบอกเล่า หลวงพ่อยิ้มได้ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยามาติดอยู่บริเวณหน้าวัด ทางเจ้าอาวาสได้อัญเชิญหลวงพ่อยิ้มมาประดิษฐานตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ภายในวัดยังมีศาลแม่ตะเคียนทอง เป็นศาลต้นตะเคียนใหญ่อายุกว่า 400 ปี และได้ยืนต้นตายเมื่อประมาณ พ.ศ. 2540 ทางวัดจึงได้นำมาแกะสลักเป็นรูปแม่ตะเคียนทอง และนำมาไว้บนตอตะเคียนต้นเดิม เพื่อมาสักการะบูชา
โลกออนไลน์มีการพูดถึงชื่อของ วัดนางกุย ว่าไปเหมือนกับชื่อ ยายกุย ตัวละครสำคัญในละครเรื่อง พรหมลิขิต ทำให้มีคำถามว่า ยายกุยในละครมีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์หรือไม่อย่างไร
อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาในละครที่ยายกุยมีชีวิตอยู่คือสมัยสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 ครองราชย์ปี พ.ศ. 2251 ขณะที่วัดสร้างปี พ.ศ.2130 ซึ่งระยะเวลาห่างกันถึง 121 ปี หากเทียบแล้ว วัดนางกุย เกิดขึ้นก่อน ยายกุย ในละครหลายสิบปีเลยทีเดียว
ข้อมูลจาก ททท.