แพทย์เตือน! พบเคส เด็ก 8 ขวบป่วยบาดทะยักรุนแรง หลังฉีดวัคซีนไม่ครบ

แพทย์เตือน! พบเคส เด็ก 8 ขวบป่วยบาดทะยักรุนแรง หลังฉีดวัคซีนไม่ครบ

เคสเตือนใจผู้ปกครอง เด็กชายวัย 8 ขวบในจังหวัดปัตตานีป่วยเป็นโรคบาดทะยัก อาการหนัก ปวดกราม กลืนน้ำลายไม่ได้ ตัวแข็ง เดินลำบาก หลังพบว่าไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ แพทย์เผยตรวจพบเชื้อจาก Spatula Test และเร่งรักษาด้วยยาต้านเชื้อพร้อมยาคลายกล้ามเนื้อ พร้อมเตือนประชาชนให้ใส่ใจการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะโรคร้ายแรงที่สามารถป้องกันได้อย่าง บาดทะยัก เพราะหากปล่อยไว้ อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Sulkiflee Saei แพทย์ในโรงพยาบาลปัตตานี โพสต์แชร์ประสบการณ์ตรง โดยระบุว่า ระหว่างเข้าเวรกับเพื่อนที่วอร์ดเด็ก พบเคสเด็กชายวัย 8 ปี มีอาการปวดกราม อ้าปากไม่ได้ กลืนน้ำลายไม่ได้ เดินตัวแข็งเกร็ง และปวดหลังมานาน 4 วันก่อนมาโรงพยาบาล

เมื่อแพทย์ทำการตรวจร่างกาย พบว่าเด็กยังรู้สึกตัวดี ไม่มีปัญหาการหายใจ แต่มีอาการกล้ามเนื้อเกร็งรุนแรง ตรวจ Spatula Test ให้ผลบวก ซึ่งมีความแม่นยำสูงมาก จึงวินิจฉัยได้ว่าเป็น โรคบาดทะยัก จากการซักประวัติพบว่าเด็กได้รับวัคซีนป้องกันไม่ครบ โดยฉีดครั้งสุดท้ายตั้งแต่แรกเกิด

บาดทะยัก (Tetanus) เป็นโรคร้ายแรงที่เกิดจากเชื้อ Clostridium tetani มักปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผลสกปรก หรือในบางกรณีพบในคนที่มีฟันผุโดยไม่ปรากฏแผลภายนอก โดยจะมีอาการแข็งเกร็งเริ่มจากกล้ามเนื้อใบหน้า ลำคอ ลำตัว และแขนขา ซึ่งถ้ามีการแข็งเกร็งที่ขากรรไกรทำให้ขากรรไกรแข็ง (lock jaw) จากนั้นมีการแข็งเกร็ง (rigidity) ตามมาด้วยการอ้าปากได้น้อย (trismus) จากนั้นจะเกิดการเกร็งตังของกล้ามเนื้อหลัง ทำให้หลังแอ่น (opisthotonus) ทั้งนี้ผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดี แต่หากไม่รักษา อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

แนวทางการรักษาคือให้ Human Tetanus Immunoglobulin (HTIG) ควบคู่กับยาปฏิชีวนะ เช่น Penicillin หรือ Metronidazole และยาคลายกล้ามเนื้อในกลุ่ม Benzodiazepine เช่น Diazepam รวมถึง Baclofen เพื่อควบคุมอาการเกร็ง

เด็กไทยควรได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักตามเกณฑ์ ได้แก่

- อายุ 2, 4, 6 เดือน

- กระตุ้นเข็มที่ 1 ตอน 18 เดือน

- กระตุ้นเข็มที่ 2 ช่วง 4–6 ปี

- และควรกระตุ้นซ้ำทุก 10 ปีตลอดชีวิต

การฉีดวัคซีนถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ไม่ควรชะล่าใจหรือปล่อยปะละเลย และควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าบุตรหลานได้รับวัคซีนครบตามช่วงอายุ เพราะโรคร้ายแรงอย่าง บาดทะยัก อาจเกิดขึ้นได้ แม้ในเด็กที่ดูแข็งแรง หากไม่ได้รับวัคซีนหรือการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเสี่ยงถึงชีวิตได้

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ