
เตือนภัยนักท่องเที่ยว! Blue Dragon โผล่ภูเก็ต พิษแรงถึงขั้นเสียชีวิต
มีรายงานล่าสุดว่า พบสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า Blue Dragon หรือมังกรน้ำเงิน อีกครั้งที่หาดกะรน จังหวัดภูเก็ต หลังจากไม่พบมานานเกือบ 2 ปี
แม้เจ้า Blue Dragon จะมีรูปร่างเล็ก สีสันสวยงามสะดุดตา แต่ความจริงแล้ว มันคือสัตว์ทะเลที่มีพิษร้ายแรง ทำให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวทั้งตื่นเต้นและกังวล เพราะแม้จะดูน่ารัก แต่ ห้ามสัมผัสเด็ดขาด เพราะพิษของมันสามารถทำให้คนปวดแสบ ปวดร้อน หรือเกิดอาการแพ้รุนแรงได้ และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
รู้จัก Blue Dragon
Blue Dragon หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Glaucus atlanticus (หรือในบางกรณีอาจเรียก Glaucilla marginata) เป็นสัตว์ทะเลในกลุ่มทากทะเล (sea slug) ที่จัดอยู่ในประเภทสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง มีถิ่นอาศัยตามชายฝั่งทะเลเขตร้อนและอบอุ่น เช่น ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ และยุโรป แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เริ่มมีรายงานการพบเห็นในน่านน้ำของประเทศไทย โดยเฉพาะที่ภูเก็ต
Blue Dragon มีลักษณะคล้ายมังกรจิ๋ว รูปร่างแบน ลำตัวมีสีฟ้า-น้ำเงินสด ขนาดโตเต็มที่เพียงประมาณ 1-1.5 นิ้วเท่านั้น มีแผ่นรยางค์คล้ายปีก 6 แฉก เรียงเป็นระเบียบอย่างสวยงามลอยตัวอยู่บนผิวน้ำด้วยการเก็บอากาศไว้ในท้อง
พิษ ของ Blue Dragon
แม้ Blue Dragon จะดูบอบบางและไร้อันตรายจากรูปลักษณ์ภายนอก แต่ในความเป็นจริง มันถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดุร้ายและมีพิษรุนแรงระดับที่สามารถทำลายระบบประสาทของมนุษย์ได้ ทว่า Blue Dragon ไม่ได้ผลิตพิษเอง แต่จะล่าและกินเหยื่ออย่าง แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส (Portuguese Man o' War) ซึ่งเป็นแมงกะพรุนที่มีพิษร้ายแรง จากนั้นมันจะ สะสมพิษของเหยื่อไว้ในรยางค์ของตนเอง และสามารถปล่อยพิษออกมาป้องกันตัวหรือใช้โจมตีศัตรูได้
อาการเมื่อได้รับพิษ และข้อควรระวัง
หากมนุษย์สัมผัสหรือถูกพิษของ Blue Dragon โดยตรง อาจเกิดอาการดังต่อไปนี้:
- ปวดแสบ ปวดร้อน บริเวณที่สัมผัส
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
- ในบางรายที่แพ้พิษ อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
จึงขอ เตือนประชาชนและนักท่องเที่ยว หากพบเห็นสิ่งมีชีวิตชนิดนี้บนชายหาดหรือในน้ำทะเล ห้ามจับ ห้ามสัมผัส และห้ามเข้าใกล้เด็ดขาด แม้ตัวจะตายแล้วก็ยังคงมีพิษอยู่
แนวทางการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
หากเผลอสัมผัสหรือถูกพิษของ Blue Dragon ให้ปฏิบัติดังนี้:
- ล้างบริเวณที่สัมผัสทันทีด้วย น้ำส้มสายชู ห้ามใช้น้ำจืด เพราะอาจทำให้พิษกระจาย
- หลีกเลี่ยงการขยี้หรือถูบริเวณที่สัมผัส
- รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง
ที่มา ฉุกเฉินการแพทย์