
ดร.นงนุช วิเคราะห์ 5 ข้อ ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อไฮโซปลอมที่หน้าตาธรรมดา
วันที่ 15 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ทาง ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด และ Visiting Associate Professor, School of Electronics and Computer Science, University of Southampton สหราชอาณาจักร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Dr. Nuch Tantisantiwong กล่าวถึงในประเด็นเรื่อง “ทำไมหลายคนถึงตกเป็นเหยื่อของไฮโซปลอมที่หน้าตาธรรมดา”
หลักของการวิเคราะห์วิจัย คือ การวิเคราะห์ประเด็นคำถามก่อน แต่หลายๆ ครั้งการวิเคราะห์ เริ่มจากการสังเกตผลลัพธ์ที่เห็นเป็นประจักษ์ แล้วไล่กลับไปหาสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ สำหรับคำถามนี้ เราจะใช้วิธีหลัง โดยสังเกตลักษณะร่วมของเหยื่อเพื่อหาคำตอบค่ะ ลักษณะร่วม ซึ่งไม่ได้แปลว่าต้องมีครบทุกข้อ
1.ผู้หญิงเล่นแอพหาคู่หรือใช้โซเชียล ที่มีลักษณะร่วมอย่างนึง คือ เปิดโอกาสให้ตัวเองได้คุยได้พบกับเพศตรงข้าม เป้าหมายคือการมีคู่ เลยพร้อมที่จะคุยกับคนที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน ไม่เคยรู้จักกันโดยตรง คนกลุ่มนี้เปิดโอกาสให้ตัวเองเจอคนเยอะ ก็ย่อมต้องมีซักคนที่เข้ามาหลอก และคนที่หลอกเองก็รู้อยู่แล้วว่า
2.เป้าหมายของคนกลุ่มนี้คือการหาคู่ การตกเหยื่อก็แค่เล่นบทผู้ชายในฝัน ผู้หญิงที่รู้จักคนเยอะ หรือมีความรู้ดี มีรายได้สูงกว่าทั่วไป คนมาหลอกก็น่าจะตั้งใจเข้าหาเพื่อเปิดทางต่อให้ตัวเอง หรือไม่ก็หวังทรัพย์สิน กะเกาะผู้หญิงกินหลังจากตกเหยื่อได้แล้ว
3.ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่เป็นเหยื่อ ไม่ค่อยเข้าใจหลักการทางธุรกิจ และแทบไม่มีคนรู้จักอยู่ในตำแหน่งสูง คนมาหลอกก็ใช้วิธีง่ายๆ คือ บอกเหยื่อว่าทำธุรกิจ ให้เหยื่อเห็น life style เสมือนคนใหญ่คนโต และตัวเลขในบัญชี ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว คนที่มีตำแหน่งสูงหรือมีธุรกิจร่ำรวยจริง ไม่ใช้ชีวิตเอิกเกริก มีรถนำหรอกค่ะ เพราะถ้ามีศัตรูจริงอย่างที่ไฮโซปลอมอ้าง การเดินทางหรือใช้ชีวิตเป็นจุดเด่นแบบนั้น มันจะเป็นเป้าที่ถูกล๊อคได้ง่ายมาก อีกอย่างนักธุรกิจมีกิจการของตัวเองตัวจริง ไม่น่าว่างนั่งเฝ้าผู้หญิง 24 ชั่วโมงค่ะ ทำแบบนั้นธุรกิจน่าจะเจ๊งแน่ไม่ช้าก็เร็ว
4.ผู้หญิงที่เป็นเหยื่อมีความรู้ทางด้านการเงินจำกัด คนมาหลอกก็จะใช้ช่องว่างใหญ่นี้ในการล่อเหยื่อ โชว์ว่ามีหลายบัญชี มีเงินในบัญชีเป็นสิบล้านร้อยล้าน แต่สมุดบัญชีมีรายการไม่กี่บรรทัด ทั้งที่ในความเป็นจริง คุณลองดูสมุดบัญชีของคุณที่เปิดมาซักปีนึงค่ะ มันมีไม่กี่รายการจริงๆ เหรอ แล้วของคนที่เปิดมาหลายปี ธุรกรรมหยุดไปตั้งแต่หลายปีก่อน มันเป็นไปได้เหรอคะ สมมติว่าเค้าใช้แอพดูยอดบัญชี เลยไม่ไปปรับสมุด ก็พอได้อยู่นะคะ แต่ถ้าคุณเจอสมุดแบบนี้ ไหนๆ เค้าจะเปิดให้ดูละ ขอให้เค้าเปิดให้ดูในแอพไปเลยว่าตกลงยอดจริงมีอยู่เท่าไหร่ ไม่ต้องไปดูหรอกสมุดบัญชีน่ะ การมีสมุดบัญชีหลายเล่ม หลายธนาคาร ไม่ผิดอะไรค่ะ แต่ตัวเลขสุดท้ายในสมุดบัญชีไม่ได้แปลว่านั่นเป็นยอดล่าสุดที่มีในบัญชีนะคะ เพราะทุกวันนี้เราโอนเงินผ่านแอพได้ เพราะฉะนั้น ของจริง เค้าต้องเปิดให้คุณดูยอดล่าสุดในแอพธนาคาร
5.ผู้หญิงที่เป็นเหยื่อ ไม่ได้คบคนที่หน้าตา รูปร่าง แต่อาจพอใจใน profile เชื่อใน life style หรือเรื่องประกอบที่ถูกสร้างขึ้น อาจเพราะมี perception หรือความเชื่อในบางเรื่อง เมื่อเรื่องที่คนมาหลอกสร้างขึ้นมีความใกล้เคียงสอดคล้องกับความเชื่อเดิมของตัวเอง ก็อาจเข้าใจไปว่าเรื่องที่แต่งขึ้นนั้นมีความเป็นไปได้
นี่เรียกว่า ไม่มี beauty bias แต่มี belief bias (อคติที่ไม่รู้ตัวที่เกิดจากความเชื่อ) มองคนให้มองที่การกระทำ ไม่ใช่แค่คำพูดมองคนให้มองที่ใจ ไม่ใช่แค่การกระทำมองคนให้มองด้วยตา ไม่ใช่ประเมินด้วยใจมองคนให้มองแล้วคิด ไม่ใช่ประเมินด้วยตา