หนุ่มวัย 35 ปี สุขภาพแข็งแรง จามแค่ 3 ครั้ง ชีวิตพลิกผัน เกือบเอาชีวิตไม่รอด ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ กลายเป็นบุคคลทุพพลภาพ

หนุ่มวัย 35 ปี สุขภาพแข็งแรง จามแค่ 3 ครั้ง ชีวิตพลิกผัน เกือบเอาชีวิตไม่รอด ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ กลายเป็นบุคคลทุพพลภาพ

จากสื่อต่างประเทศ ได้รายงานว่า เอียน แอปเปิลเกต (Ian Applegate) ชายวัย 35 ปี จากซานตาครูซ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เกือบเสียชีวิตหลังจากจามแรงเกินไปจนทำให้เขาเกิดภาวะหลอดเลือดสมอง (Stroke)

วันที่เกิดเหตุ เอียน กำลังนั่งอยู่ในรถกับภรรยาและลูกชายวัย 4 ขวบเมื่อจู่ๆ เขาก็เริ่มจามติดกันหลายครั้ง แต่พอถึงครั้งที่ 3 เขารู้สึกว่ามีบางอย่างผิดปกติ เกิดอาการปวดหัวรุนแรง วิงเวียน และรู้สึกชาอย่างฉับพลันที่ด้านซ้ายของร่างกาย

เอียน ไม่รู้เลยว่าการจามอย่างรุนแรงทำให้เยื่อบุหลอดเลือดแดงที่คอของเขาฉีกขาด ซึ่งเป็นภาวะที่เรียกว่า Vertebral Artery Dissection - VAD รอยฉีกนี้ทำให้เกิดลิ่มเลือดที่อุดกั้นการไหลเวียนของเลือดไปยังสมอง และส่งผลให้เกิดภาวะหลอดเลือดสมอง (Stroke) เขาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน แพทย์ให้ยาละลายลิ่มเลือดเพื่อป้องกันการก่อตัวของลิ่มเลือดเพิ่มเติม

หลังจากเหตุการณ์นี้ เอียน ก็เป็นคนกลัวการจาม และต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากอาการเส้นเลือดสมองทำให้เขาไม่สามารถกลืนอาหารได้ ขณะนี้เขากำลังเข้ารับการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อซีกซ้ายของร่างกาย

ความเสี่ยงจากการจามและภาวะ VAD

ในทางการแพทย์ การจามคือปฏิกิริยาทางธรรมชาติของร่างกายในการขับไล่สิ่งระคายเคืองออกจากจมูก อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บรุนแรงได้ ศาสตราจารย์ อดัม เทเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกายวิภาคศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแลงคาสเตอร์ สหรัฐฯ ระบุว่าความเสี่ยงจากการจามอย่างรุนแรงอาจรวมถึง กระดูกซี่โครงหัก ปอดแตก และแม้แต่เนื้อเยื่อสมองฉีกขาด

นอกจากการจาม ภาวะ VAD ยังสามารถเกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวคออย่างกะทันหันหรือได้รับบาดเจ็บ เช่น การไอรุนแรง หรือการสั่งน้ำมูกแรงเกินไป

อาการของ VAD ได้แก่

-ชาบริเวณใบหน้า

-พูดหรือกลืนลำบาก

-สูญเสียการรับรส

-สะอึกเรื้อรัง

-คลื่นไส้

-เห็นภาพซ้อน

-สูญเสียสมดุลและการได้ยิน

แม้ว่า โรคหลอดเลือดสมองจาก VAD จะพบได้ยาก แต่มันถือเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย บางการศึกษาประเมินว่าภาวะนี้เป็นสาเหตุของ 1 ใน 5 กรณีของโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือด (Ischemic Stroke) ซึ่งเกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดที่ส่งเลือดไปยังสมองในกลุ่มผู้ใหญ่อายุต่ำกว่า 45 ปี

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ