รีบดู! กลุ่มเสี่ยงโรคไข้หูดับคือใคร พร้อมวิธีการป้องกัน

รีบดู! กลุ่มเสี่ยงโรคไข้หูดับคือใคร พร้อมวิธีการป้องกัน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงรับประทานหมูดิบหรือสุกๆ ดิบๆ เสี่ยงป่วยด้วย โรคไข้หูดับ อาจทำให้หูหนวกถาวรหรือเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง พร้อมแนะวิธีป้องกัน โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ไม่ใช้เขียงของดิบและของสุกร่วมกัน ไม่สัมผัสเนื้อหมูและเลือดดิบด้วยมือเปล่า

สถานการณ์โรคไข้หูดับในไทย

สำหรับสถานการณ์ของโรคไข้หูดับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-7 ก.พ. 64 พบผู้ป่วยจำนวน 17 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุและวัยทำงาน ได้แก่ อายุ 55-64 ปี รองลงมาคือ อายุ 45-54 ปี และอายุมากกว่า 65 ปี ตามลำดับ ส่วนภาคที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือ ภาคเหนือ (ผู้ป่วย 12 ราย คิดเป็นร้อยละ 71 ของผู้ป่วยทั้งหมด) จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ พะเยา และจันทบุรี ตามลำดับ

โรคไข้หูดับ คืออะไร?

โรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่กำลังป่วย สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ

-เกิดจากการบริโภคเนื้อและเลือดหมูที่ปรุงแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ

-การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่เป็นโรค โดยติดต่อสู่คนทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตาที่มีเชื้ออยู่

กลุ่มเสี่ยงโรคไข้หูดับ ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่

-ผู้ติดสุราเรื้อรัง

-ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไต มะเร็ง หัวใจ

-ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น

หากติดเชื้อจะมีอาการป่วยรุนแรงเนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำ

วิธีการป้องกันโรคไข้หูดับ นายแพทย์โอภาส แนะนำวิธีการป้องกันโรคไข้หูดับ คือ

-ควรบริโภคอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อน ทำสดใหม่ โดยเฉพาะเนื้อหมู

-ควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้า ที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์

-ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ -หากรับประทานอาหารปิ้งย่าง หมูกระทะ ทำให้สุกก่อนเสมอ

-ควรใช้ช้อนกลางส่วนตัว แยกอุปกรณ์ที่ใช้หยิบเนื้อหมูสุกและดิบออกจากกัน

-ไม่ใช้เขียงของดิบและของสุกร่วมกัน นอกจากจะเป็นการป้องกันโรคไข้หูดับแล้วยังเป็นการป้องกันโรคโควิด-19 ได้อีกด้วย

-ไม่สัมผัสเนื้อหมูและเลือดดิบด้วยมือเปล่า โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู

-ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน

-หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง

-ที่สำคัญในช่วงนี้มีการระบาดของโรคโควิด-19 ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19

-อย่างเคร่งครัด โดยการสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย 100% ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ