รู้ก่อนกิน! อาหารไหว้เจ้า วันตรุษจีน ที่คนส่วนใหญ่อาจไม่ระวังอาจเป็นอันตรายได้

รู้ก่อนกิน! อาหารไหว้เจ้า วันตรุษจีน ที่คนส่วนใหญ่อาจไม่ระวังอาจเป็นอันตรายได้

วันตรุษจีน ในปี2567 วันที่เท่าไหร่ ตรุษจีน ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 ถือเป็นวันสำคัญของคนจีน เป็น วันขึ้นปีใหม่ ตามปฎิทินจีน ในประเทศจีนยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า "เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ" เพราะฤดูใบไม้ผลิตามปฏิทินจีนเริ่มต้นด้วยวันลีชุน ซึ่งเป็นวันแรกในทางสุริยคติของปีปฏิทินจีน วันดังกล่าวยังเป็นวันสิ้นสุดฤดูหนาว ซึ่งคล้ายกันกับงานเทศกาลของตะวันตก เทศกาลนี้เริ่มต้นในวันที่ 1 เดือน 1 ในปฏิทินจีนโบราณและสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ด้วยเทศกาลโคมไฟ คืนก่อน ตรุษจีน เป็นวันซึ่งครอบครัวจีนมารวมญาติเพื่อรับประทานอาหารเย็นเป็นประจำทุกปี ซึ่งเรียกว่า ฉูซี่ หรือ การผลัดเปลี่ยนยามค่ำคืน เนื่องจากปฏิทินจีนเป็นแบบสุริยจันทรคติ ตรุษจีนจึงมักเรียกว่า วันขึ้นปีใหม่จันทรคติ

วันตรุษจีน เป็นงานเฉลิมฉลองที่ยาวที่สุดและสำคัญที่สุดใน ปฏิทินจีน จุดกำเนิดของตรุษจีนนั้นมีประวัติหลายศตวรรษและมีความสำคัญเพราะตำนานและประเพณีหลายอย่าง ตรุษจีนมีการเฉลิมฉลองกันในหลายประเทศและดินแดนซึ่งมีประชากรจีนอาศัยอยู่มาก อย่างเช่น จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเก๊า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย รวมทั้งในชุมชนชาวจีนที่อื่น ตรุษจีน ถูกมองว่าเป็นวันหยุดสำคัญสำหรับชาวจีนและได้มีอิทธิพลต่อการเฉลิมฉลองการขึ้นปีใหม่จันทรคติของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งรวมทั้งเกาหลี (โซลนาล) ภูฏาน และเวียดนาม

ซึ่งอาหารตรุษจีน อาหารไหว้เจ้า นอกจากจะเป็นการแสดงความนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และบรรพบุรุษของครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนแล้ว ยังเป็นอาหารหลายคนรอคอยที่จะได้ทาน และในหนึ่งปีจะได้ทานแค่ครั้งเดียว แต่อาจมีอันตรายแอบแฝงไม่เคยทราบมาก่อน คือ

อันตรายจากอาหารตรุษจีน

1.ฟอร์มาลีน เราอาจพบการปนเปื้อนสารฟอร์มาลีนจากอาหารสด โดยเฉพาะสัตว์ทะเล และผักผลไม้บางชนิด เนื่องจากมีการลักลอบนำฟอร์มาลีนมาใช้เก็บรักษาอาหารเหล่านั้นให้เก็บสดๆ ได้นานยิ่งขึ้น เมื่อฟอร์มาลีนเข้าสู่ร่างกายอาจส่งผลต่อตับ ไต หัวใจ และสมอง และหากได้รับฟอร์มาลีนมากเกินไปอาจส่งผลถึงชีวิตได้

2.บอแรกซ์ พบบอแรกซ์ได้ในอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารแห้งต่างๆ เช่น ลูกชิ้น หมูสับ ตังกวยแฉะ (ขนมฟักแห้ง) ขนมอี้ (บัวลอยจีน) ซกซา (ถั่วเคลือบน้ำตาล) หากทานอาหารที่มีบอแรกซ์ปนเปื้อนอาจทำให้เกิดอาการตอบสนองต่อพิษฉับพลัน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ผิวหนังร้อนแดง ความดันโลหิตลดลง หมดสติ หรือหากรับประทานในปริมาณมาก หรือแพ้มาก อาจส่งผลถึงชีวิตได้เช่นกัน 3.สารกันเชื้อรา หรือกรดซาลิซิลิค สารชนิดนี้มักถูกใช้ในอาหารประเภทหมักดอง ทั้งผักดอง ผลไม้ดอง และอาหารแห้งอย่างปลาหมึกแห้ง เห็ดหอมแห้ง ถั่วแห้ง เมื่อทานเข้าไปอาจเข้าไปทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร และลำไส้

4.สารฟอกขาว สารฟอกขาวมักถูกใช้กับอาหารที่ต้องการให้มีลักษณะสด สะอาด น่าทาน เช่น ถั่วงอก เต้าหู้ หน่อไม้จีน ขิงซอย เห็ดหูหนูขาว และเส้นก๋วยเตี๋ยว หากทานอาหารที่มีสารฟอกขาวปนเปื้อนมากๆ อาจเกิดอาการอักเสบต่ออวัยวะที่สัมผัส เช่น ปาก กระเพาะอาหาร อาจรู้สึกแน่นหน้าอก ปวดท้อง อาเจียน หรือหากได้รับในปริมาณที่มาก หรือมีอาการแพ้มากอาจเสียชีวิตได้

5.ยาฆ่าแมลง นอกจากในผักผลไม้สดที่เราอาจพบได้ในอาหารทุกๆ วันแล้ว อาหารตรุษจีนยังอุดมไปด้วยอาหารแห้ง เมื่อทานอาหารที่ปนเปื้อนยาฆ่าแมลงในปริมาณมาก อาจทำให้กล้ามเนื้อสั่น ชักกระตุก หายใจติดขัด หมดสติ และอาจกลายเป็นสารก่อมะเร็งได้

6.สีย้อมผ้า อาจจะงงว่าสีย้อมผ้ามาจากไหน เราอาจพบสีย้อมผ้าจากเชือกฟางที่ใช้มัดไก่ หรือเป็ดต้มสุก หรือสีจากก้านธูปที่ปักลงไปในอาหาร และผลไม้ที่ใช้ไหว้ สีย้อมผ้าเหล่านี้อาจมีสารประกอบที่อันตรายต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นสารตะกั่ว ปรอท สารหนู และโครเมียม เป็นต้น โดยสารเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการฉับพลัน เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย หรืออาจสะสมในร่างกายในระยะยาวจนเสี่ยงเป็นมะเร็งได้

7.อาหารค้างนาน อาหารทุกชนิดที่ปล่อยให้เย็นชืดค้างอยู่นาน มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดจุลินทรีย์ในอาหารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

โดยอาหารตรุษจีน ทุกชนิดก่อนทานควรนำไปอุ่นให้ร้อนก่อนทาน โดยสามารถอุ่นในไมโครเวฟด้วยความร้อน 800 วัตต์ เป็นเวลา 2-3 นาที จนกว่าจะพบว่าอาหารร้อนจนมีไอร้อนขึ้น สำหรับขนมหวานอย่างขนมเข่ง ขนมเทียน สามารถทานเย็นได้ แต่หากต้องการเก็บไว้นานๆ ให้นำไปอุ่นให้ร้อน จากนั้นก็เก็บเข้าตู้เย็นในอุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส จะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในอาหาร และยืดอายุอาหารให้เก็บได้นานขึ้นอย่างปลอดภัยต่อสุขภาพ

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ