สงสัยไหม! ทำไมเราถึงหิวบ่อยกว่าคนอื่น จะมาเฉลยสาเหตุ
หลายๆคนคงสงสัยว่า ทำไมเราถึงหิวกันมากจนต้องไปซื้อขนม และอาหารอย่างอื่นมาทานเพิ่ม จนบางทีน้ำหนักขึค้นมาเยอะมาก แบบไม่รู้ตัว
ทำไมเราถึงหิว?
อาการหิว เป็นสัญญาณทางประสาท ที่ร่างกายเตือนเราว่าเราต้องการอาหาร เพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิต เมื่อท้องของเราว่าง ไม่มีอาหารตกถึงท้อง ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนที่มีชื่อว่า “เกรลิน” เพื่อสั่งการไปยังสมองเลยว่า “เราหิว เราต้องการอาหาร” โดยส่งสัญญาณออกมาทางอากัปกิริยาต่างๆ เช่น ท้องร้อง มวนท้อง โหย อ่อนแรง มือสั่น เมื่อเรากินข้าว ดื่มน้ำจนเต็มกระเพาะอาหารแล้ว ร่างกายก็หยุดการหลั่งฮอร์โมนเกรลิน แล้วหลั่งฮอร์โมนอีกตัวที่มีชื่อว่า “เลปติน” ออกมา ให้ร่างกายรับรู้ว่า “อิ่มแล้ว” ให้หยุดทานได้แล้วนั่นเอง
หิว หรือกระหาย?
ตามภาษาไทยแล้ว หิวกับกระหายมีความหมายใกล้เคียงกัน แต่ไม่เหมือนกัน ที่เราบอกว่าหิวๆ บางครั้งมันอาจจะเป็นแค่อาการ “กระหายน้ำ” เท่านั้น คุณอาจกำลังแยกไม่ออกว่าหิว (ข้าว) หรือกระหาย (น้ำ) อาจจะมีหลายครั้งที่คุณรู้สึกอยากทานอะไรที่มันสดชื่นๆ เลยไปจบที่น้ำที่มีรสชาติหวานๆ หรือบางคนกันไปทานขนมหวานๆ ที่ดันให้พลังงานสูง จึงทำให้เป็นสาเหตุของน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น
หิวเมื่อไร ต้องกิน!
แม้ว่าบางครั้งอาจจะเกิดการผิดพลาด เพราะแยกไม่ออกว่านี่หิวจริง หรือแค่อยาก หรือแค่กระหายน้ำ เราก็อย่าปล่อยให้ตัวเองมีอาการหิวไปนานๆ จนหิวหนักมากๆ แล้วทานหนักขึ้นกว่าเดิม ถ้ารู้สึกหิวๆ โหวงๆ จริงๆ สามารถหาของกินมาทานได้ แต่อยากให้เริ่มจากน้ำเปล่าก่อน 1 แก้ว ถ้าค่อยๆ ดื่ม ค่อยๆ จิบไปจนหมดแก้วแล้วยังไม่ช่วยให้อาหารหิวน้อยลง ลองหันมาทานผลไม้สด หรืออาหารว่างพลังงานต่ำอื่นๆ เช่น โยเกิร์ต ซีเรียลบาร์ แต่หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสชาติหวานจัด เค็มจัด หรืออาหารที่ใส่ผงชูรส เพราะนอกจากพลังงานจะสูงแล้ว ยังอาจไปกระตุ้นความอยากอาหารเพิ่มมากขึ้นเข้าไปอีก
อาหารที่ควรเลี่ยงเมื่อมีอาการหิวระหว่างวัน
- อาหาร และขนมที่มีแป้ง และน้ำตาลเป็นส่วนประกอบสำคัญ เช่น เบเกอรี่ เค้ก คุกกี้ ไอศกรีม ขนมหวานต่างๆ
- ขนมกรุบกรอบ ขนมถุง ที่มีรสชาติหวานจัด เค็มจัด และมีผงชูรส
- น้ำผลไม้ (น้ำตาลสูง ควรทานผลไม้สดที่มีวิตามิน และใยอาหารสูงกว่า)
- อาหารที่ให้พลังงานสูง
ทำอย่างไร ถ้าไม่อยากหิวบ่อย?
1.หิว เพราะอดอาหาร บอกแล้วว่าหิวเมื่อไรต้องกิน เพราะถ้าอดอาหารจนหิวมากๆ เราก็มีโอกาสที่จะทานมากกว่าที่เราควรจะทานตามปกติ ถ้ากลัวอ้วนมากจริงๆ ลองทานมื้อละน้อยๆ แต่แบ่งเป็นหลายๆ มื้อแทน วันละ 4-5 มื้อก็ได้ โดยเลือกมื้อช่วงสาย หรือช่วงบ่ายให้เป็นอาหารที่พลังงานต่ำ รับรองไม่อ้วนหรอก
2.หิว เพราะเครียด รู้ไหมว่าเมื่อเราเครียดมากๆ หรือแม้กระทั่งอยู่ในอารมณ์วิตกกังวล เหนื่อย เนื่อหน่าย เหงา ว้าวุ่นใจ กระวนกระวาย อารมณ์เหล่านี้ทำให้เรามีอาการหิวจากภาวะทางอารมณ์ที่ไม่ปกติได้ แถมเผลอๆ จะทานมากกว่าเดิม เพื่อทดแทนความสุขที่ได้รับจากการกิน กินอิ่มอารมณ์ก็ดีขึ้นนั่นเอง แต่จริงๆ แล้วการแก้ปัญหาควรจะทำให้จิตในอยู่ในอารมณ์ที่ปกติมากกว่าที่แก้ปัญหาด้วยการกิน ลองหาเวลาพักผ่อนคลายเครียด ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ หรือทำกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ เช่น อ่านหนังสือ ดูหนัง จะดีกว่า
3.หิว เพราะพักผ่อนน้อย ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าการนอนน้อย ทำให้หิวหนักกว่าเดิม ยิ่งร่างกายได้รับการพักผ่อนน้อย จะยิ่งทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเกรลินเจ้าเก่า ที่ทำให้เราหิวหนักกว่าเดิมออกมา แถมยังหลั่งฮอร์โมนเลปติน ที่ทำให้เรารู้สึกอิ่มน้อยลงอีกด้วย กลายเป็นหิวแล้วกินเท่าไรก็ไม่อิ่ม หรือต้องทานมากขึ้นกว่าเดิมถึงจะอิ่ม รู้อย่างนี้แล้วนอนพักผ่อนให้เพียงพอจะดีกว่า
4.หิว เพราะเป็นโรค ฮั่นแน่ รีบเช็คเลยล่ะสิว่าเป็นโรคอะไรหรือเปล่า เปอร์เซ็นต์ในการเป็นโรคเหล่านี้อาจจะน้อย แต่ก็มองข้ามไม่ได้เหมือนกัน บางคนอาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งเป็นอาการของคนที่เป็นโรคเบาหวาน หรือกลุ่มคนที่งดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตนานๆ หรืออาจจะเป็นอาการหิวจากโรคไฮโปไทรอยด์ก็ได้ ถ้าเป็นสาเหตุนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางแก้ไขที่ถูกต้อง
5.หิว เพราะอยาก (ล้วนๆ) บอกเลยว่านี่ไม่ใช่ความหิวที่แท้จริง เป็นความอยากทานล้วนๆ ปากและจิตใจสั่งว่า “ฉันหิว” แต่จริงๆ แล้วกระเพาะอาหารก็ยังไม่ว่าง อาการหิวประเภทท้องร้องจ๊อกๆ หรือมือสั่น อ่อนแรงอะไรไม่มีสักอย่าง เห็นรูปอาหารน่าทานตามฟีดในโซเชียลมีเดียก็อยากจะกินเสียเดี๋ยวนั้น แล้วเอาความหิวมาอ้าง แต่จริงๆ คุณไม่ได้หิวหรอก เพราะถ้าคุณหิวจะทานสลัดผักกับไก่ต้มฉีกก็อยู่ท้องได้เหมือนกัน คงไม่อยากปิ้งย่าง แซลมอน ชาบู จิ้มจุ่ม หรือบิงซูหรอก